Accessibility Tools

ศาลจังหวัดนครปฐม
Nakhon Pathom Provincial Court

 

 

 

 

                     ศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทศาลจังหวัดนครปฐม ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานไกล่เกลี่ยของศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนการนำวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยเฉพาะการไกล่เกลี่ยมาใช้ควบคู่ไปกับการพิจารณาคดีของศาล และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีในศาลให้มีประสิทธิภาพ

อำนาจหน้าที่ของศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทศาลจังหวัดนครปฐม
1. ดำเนินการเพื่อให้มีการไกล่เกลี่ยตามที่ผู้รับผิดชอบราชการศาลหรือองค์คณะผู้พิพากษามอบหมายหรือมีคำสั่ง
2. ส่งเสริมและเผยแพร่วิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยเฉพาะการไกล่เกลี่ยและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี
3. จัดทำสารบบและสำนวนคดีไกล่เกลี่ย
4. จัดทำและรายงานข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับการดำเนินการไกล่เกลี่ยของศาล ตลอดจนการประเมินผลการดำเนินงานไกล่เกลี่ยของศาล
5. จัดทำบัญชีผู้ประนีประนอมและประสานงานกับผู้ประนีประนอม
6. รวบรวมผลการปฏิบัติงานของผู้ประนีประนอม
7. ประสานงานกับหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการดำเนินวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือก
8. ดำเนินการอื่นใดที่ผู้รับผิดชอบราชการศาลมอบหมาย

1. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี
              ด้วยศาลแพ่งได้มีการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย และจัดทำ QR Code สำหรับใช้ในการตอบรับการเข้าร่วมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ของคู่กรณี เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของประธานศาลฎีกาและสำนักงานศาลยุติธรรม และเป็นการสนับสนุนให้คู่กรณีสามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี โดยการส่งเสริมให้คู่กรณีได้เจรจาหาข้อยุติและประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างกันโดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล โดยผู้ร้องที่มีข้อพิพาทอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนครปฐม สามารถยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครปฐมด้วยตนเอง ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทประจำศาลจังหวัดนครปฐม โดยทางไปรษณีย์ ผู้รับส่งพัสดุภัณฑ์ โทรสารของศาล หรือยื่นคำร้องเป็นคำร้องอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ทางระบบ (Case Information Online Service : CIOS) 
และหากคู่กรณีหรือประชาชนทั่วไปประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี สามารถแจ้งผ่านแบบตอบรับเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ทางระบบ QR Code เพื่อให้ศาลนัดประชุมไกล่เกลี่ยและแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยและดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไป 

2. ขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี 
              2.1 ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครปฐม (ตามเขตอำนาจหากมีการฟ้องคดี) โดยอาจยื่นคำร้องเป็นหนังสือด้วยตนเอง ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทประจำศาลจังหวัดนครปฐม โดยทางไปรษณีย์ ผู้รับส่งพัสดุภัณฑ์ หรือโทรสารของศาล โดยใช้แบบพิมพ์โดยแสดงรายการและเนื้อหาในคำร้องตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศกำหนด หรือยื่นคำร้องเป็นคำร้องอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ทางระบบ (Case Information Online Service : CIOS) ผู้ร้องจะต้องติดตามผลการยื่นคำร้องและการดำเนินการในกรณีที่ยื่นคำร้องผ่านทางระบบ CIOS สามารถติดตามผลได้ในระบบดังกล่าว
              2.2 ถ้าผู้ร้องประสงค์ให้ส่งแบบตอบรับเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งทางไปรษณีย์  ให้ผู้ร้องจัดเตรียมซองผนึกดวงตราไปรษณียากรมอบให้เจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการ และให้เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือเชิญชวนไปให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง พร้อมกับสำเนาคำร้องทางไปรษณีย์ โดยใช้ซองจดหมาย ผนึกดวงตราไปรษณียากรที่ผู้ร้องจัดเตรียมให้ โดยกำหนดให้ตอบกลับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ส่งคำร้องให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออาจดำเนินการสอบถามความสมัครใจของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยทางไปรษณีย์ ผู้รับส่งพัสดุภัณฑ์ โทรสาร หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศกำหนด หรืออาจช่วยเหลือศาลในการติดต่อประสานกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
              กรณียื่นคำร้องผ่านระบบ CIOS ระบบจะส่งหนังสือเชิญชวนคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไปยังที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ร้องระบุมาในคำร้อง หากผู้ร้องประสงค์ให้ส่งแบบตอบรับให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งทางไปรษณีย์ด้วย ให้ผู้ร้องจัดเตรียมซองผนึกดวงตราไปรษณียากรมอบให้เจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการ
              2.3 ในกรณีที่คู่กรณีตอบรับเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย คู่กรณีอาจเลือกช่องทางที่สะดวกได้แก่ การเดินทางมาที่ศาลด้วยตนเอง หรือวิธีการไกล่เกลี่ยออนไลน์ (Online Mediation)
              ในกรณีที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธหรือไม่ตอบรับเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยภายในระยะเวลาที่กำหนด ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ จะงดดำเนินการหรือดำเนินการตามคำสั่งศาล

3. หลักเกณฑ์เบื้องต้นในการพิจารณา 
              3.1 ข้อพิพาทอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งหรือไม่
              3.2 มีเหตุผลสมควรที่จะรับคำร้องไว้ไกล่เกลี่ยหรือไม่
              3.3 ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องมาก่อนหรือไม่
              3.4 ผู้ร้องเคยนำข้อพิพาทตามคำร้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งหรือไม่ โดยหากผู้ร้องเคยนำข้อพิพาทตามคำร้องไปยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลใดศาลหนึ่งไว้แล้วโดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ความในคดีนั้น ข้อพิพาทตามคำร้องเคยได้รับการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องแล้วแต่ไม่เป็นผลหรือไม่

 

 

 

 

 

 
คำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง  หนังสือมอบอำนาจขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง 

 

 

e-Book